ออกแถลงการณ์ดีหรือเปล่า

(จาก Facebook post วันที่ 3 ก.พ. 2564)

เมื่อคุณเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หน้าที่หนึ่งที่คุณอาจได้รับมอบหมายคือให้ยกร่างแถลงการณ์แสดงท่าทีไทยต่อวิกฤตการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค

แต่กว่าจะถึงจุดนั้นจะต้องมีการตัดสินใจในระดับนโยบายว่าจะออกแถลงการณ์หรือไม่

ถ้าวิกฤตการณ์นั้นมีโอกาสกระทบภูมิภาค เช่นสถานการณ์ในเมียนมาร์ อย่างน้อยแถลงการณ์ก็ควรออกมาจากอาเซียน

โดยที่อาเซียน-10 หาฉันทามติได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในภูมิภาค หน้าที่นี้จึงมักตกกับประธาน

ในปีนี้โชคดีที่ประธานเป็นบรูไน เพราะอยู่มานาน มีประสบการณ์ในอาเซียนสูง และเล่นบทบาทที่สร้างสรรค์เสมอมา จึงออกแถลงการณ์ประธาน (ASEAN Chairman’s Statement) ว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมาร์อย่างรวดเร็วทันใจ

https://asean.org/asean-chairmans-statement-developments-republic-union-myanmar/

ทีนี้บางคนอาจสงสัยว่าออกได้อย่างไร เพราะอาเซียนถือหลักการฉันทามติไม่ใช่หรือ

คำตอบก็คือ Chairman’s Statement เป็นสิทธิ์ของประธานที่จะออกได้โดยไม่จำเป็นต้องมีฉันทามติเพราะไม่ได้ออกในนามสมาชิกภาพทั้งหมด (ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นต้องเจรจาต่อรองกันทุกคำ)

การที่ประธานอาเซียนออกแถลงการณ์มิได้หมายความว่าประเทศสมาชิกจะออกของตัวเองไม่ได้

ถึงอย่างไรการออกแถลงการณ์ของแต่ละประเทศก็เป็นสิทธิ์ของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว เพราะอาเซียนไม่เหมือนอียูที่มีนโยบายต่างประเทศร่วมกัน

หมายความว่ากระทรวงฯ ก็ต้องตัดสินใจอยู่ดีว่าควรออกแถลงการณ์หรือไม่

ยังต้องชั่งใจอยู่ดีระหว่างข้อดีกับข้อเสียว่าออกแถลงการณ์แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในเวทีระหว่างประเทศไหม จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของไทยไหม ทำให้ประเทศมีเกียรติภูมิในเวทีระหว่างประเทศสูงขึ้นไหม

ในกรณีเมียนมาร์ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยแสดงท่าทีชัดเจนแล้วโดยนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านความมั่นคง ว่าเป็นเรื่องภายในของเมียนมาร์

การไม่แสดงความเห็นย่อมเป็นการแสดงท่าทีในตัวเอง

สำหรับเจ้าหน้าที่การทูตที่เกี่ยวข้อง แม้ส่วนตัวอาจเชื่อว่าสถานการณ์ในเมียนมาร์อาจกระทบไทยโดยตรงได้และควรมีแถลงการณ์ แต่การตัดสินใจทางการเมืองย่อมเป็น the last word ไม่ต้องถกเถียงต่อ

ไม่ออกก็ดีไปอย่าง ทำให้ไม่ต้องอยู่ที่ทำงานจนดึกดื่นสรรหาถ้อยคำที่เหมาะสม เสนอให้ผู้ใหญ่แก้แล้วแก้อีก บางทีก็แก้กลับไปกลับมา ฯลฯ

น่าเสียดายแต่ที่เงื่อนไขทางการเมืองของเราทำให้ไทยไม่สามารถแสดงความเห็นใจห่วงใยสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน พลาดโอกาสที่จะอ้างถึงหลักการสากลอันสูงส่งต่าง ๆ ที่เรายึดถือตามลายลักษณ์อักษร

แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ดีและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็อาจถือว่าเป็นโอกาสที่รัฐบาลทั้งสองจะได้กระชับความร่วมมือแลกเปลี่ยน best practices กันว่าการทำรัฐประหารอย่างยั่งยืนควรทำอย่างไร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *