โจทย์หนึ่งที่นักการทูตไทยจะต้องเจอไม่ช้าก็เร็วคือเรื่องของภาพลักษณ์
จุดอ่อนเชิงภาพลักษณ์ของไทยที่ท้าทาย กต. มาตั้งแต่หลังสงครามเย็นคือด้านการเมือง โดยเฉพาะบทบาทของรัฐในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ความจริงถ้าเราไม่ได้อยากเป็นพลเมืองดีของประชาคมโลกเพื่อให้ได้รับการนับหน้าถือตาก็คงไม่ต้องแยแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ
แต่นี่เราเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้การยอมรับ Universal Declaration of Human Rights และได้เข้าเป็นภาคี International Covenant on Civil and Political Rights ในยุคที่ประชาธิปไตยและความหวังยังเบ่งบาน
แม้ว่า UDHR จะเป็นการประกาศหลักการสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ ICCPR เป็นสนธิสัญญา จึงมีผลผูกพัน
ในโลกอุดมคติ รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดในประเทศที่แสดงอุดมการณ์สนับสนุนสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนเช่นนั้นจะต้องเคารพเอกสารสำคัญสองฉบับนี้และจะไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อข้อบทต่าง ๆ ในนั้น
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงอุดมการณ์มักจะเป็นฉากบังหน้า อำนาจทางการเมืองเป็นตัวตัดสินสำคัญที่สุด การปกป้องอำนาจมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะผู้มีอำนาจเป็นผู้กุมกลไกภาครัฐซึ่งผูกขาดความรุนแรง
จะบอกว่าการละเมิดเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ถูกทีเดียว เพราะประเทศประชาธิปไตยก็มีการละเมิดเหมือนกัน
ต่างกันตรงที่เมื่อเกิดการละเมิด ภาคส่วนอื่นของโครงสร้างรัฐและสังคมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจะออกมาต่อต้านเรียกร้องให้มีการสอบสวน เยียวยา และเอาผิดกับผู้ละเมิด
ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลไกตรวจสอบมักถูกรัฐ co-opt หรือทำให้อ่อนแอด้วยวิธีต่าง ๆ การจำกัดสิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ทำได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะโดนลงโทษ
เมื่อใดที่ภาคสังคมแข็งกล้าพอที่จะออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐ การละเมิดสิทธิก็เป็นอาวุธหนึ่งที่รัฐมีในมือเสมอ
สำหรับประเทศที่เคยมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยระดับภูมิภาค อาวุธนั้นจำต้องใช้อย่างแยบยลแนบเนียน
ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า plausible deniability = ความสามารถที่จะปฏิเสธอย่างพอรับฟังได้ว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ละเมิด ทุกอย่างเป็นไปตามหลักสากล ไม่ขัดต่อพันธกรณี
บางทีกต.จะ “โชคดี” ที่ไม่ต้องทำหน้าที่ตรงนี้เพราะฝ่ายการเมืองออกมารับเอง
เช่นตอนที่นายกทักษิณโดนสหประชาชาติจวกเรื่องนโยบายโหดปราบยาเสพติดซึ่งทำให้คนบริสุทธิ์ตายเป็นเบือ ท่านก็ออกมาโต้ว่า "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ"
แต่บางทีฝ่ายการเมืองก็ต้องการเอาแต่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง คือได้ทั้งทำตามอำเภอใจและไม่ต้องหาเหตุผลมา “อธิบาย” ต่อประชาคมโลก
เมื่อนั้นกต.ก็จะได้รับ “มอบหมาย” ให้ชี้แจงในฐานะหน่วยราชการที่มีความน่าเชื่อถือในเวทีโลกมากที่สุด
ในที่สุด ข้าราชการ กต.ซึ่งหลายคนเรียนมาสูง ๆ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ก็กลายเป็นว่าต้องมาทำหน้าที่ defend the indefensible โดยใช้ logical fallacy เพื่อตามล้างตามเช็ดสิ่งที่รัฐบาลทำไปโดยไม่ปรึกษาหารือก่อน
ใจหนึ่งก็รู้ว่าต่างชาติไม่ได้โง่และสิ่งที่ชี้แจงไปคงไม่สามารถหลอกใครได้สำเร็จ
แต่อีกใจหนึ่งก็มิอาจปฏิเสธฝ่ายการเมือง เพราะหน้าที่ของข้าราชการประจำคือทำตามนโยบาย เป็นที่นั่งลำบากที่ใครไม่เจอด้วยตัวเองจะไม่รู้
และผลที่ตามมาก็ไม่ใช่การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติดังที่หวัง แต่การสูญเสียความน่าเชื่อถือของไทยในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งความเสียหายต่อเกียรติภูมิของข้าราชการดี ๆ ที่ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ด้วย
แทนที่จะเป็น win-win กลับเป็น lose-lose situation สำหรับทุกฝ่าย