รู้เขา-รู้เรา

หลายคนที่พยายามสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศมักจะนึกถึงความต้องการของตัวเอง แต่ลืมนึกถึงความต้องการของกระทรวงฯ

บางคนคิดว่า เอ ฉันก็เรียนเก่งนี่ แต่ทำไมไม่ผ่าน สงสัยเป็นเพราะไม่ได้เป็นลูกท่านหลานเธอหรือเปล่า

ความจริงก็คือว่ากระทรวงฯ ต้องการและพยายามหาคนเก่งอยู่เสมอ

ความเก่งที่ว่านี้คือความรู้ความสามารถบางอย่าง หรือ a very particular set of skills อย่างที่ Liam Neeson พูดในหนังเรื่อง Taken

โดยที่ความรู้ความสามารถชุดนี้ไม่ได้หาง่าย ๆ กระทรวงฯ จึงเปิดให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการระบุชื่อผู้สอบในกระดาษสอบ

กว่าจะรู้ว่าใครเป็นใครก็ปาเข้าไปรอบสุดท้าย ซึ่งก็ยังมีกรรมการรับเชิญจากนอกกระทรวงเป็นสักขีพยานความโปร่งใสอยู่ดี

ข้อสอบนักการทูตปฏิบัติการก็ออกแบบเพื่อคัดกรองหาคุณสมบัติและทักษะที่กระทรวงฯ ต้องการ

ขั้นแรก หรือ ภาค ก. มีเป้าหมายที่ง่ายมาก นั่นคือการลดจำนวนผู้สอบจากหลายพันคนให้เหลือหลักร้อยต้น ๆ

เป็นการใช้ข้อสอบปรนัยวัดความเหมาะสมกว้าง ๆ เช่นความรู้รอบตัวและความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ

เมื่อเหลือไม่กี่ร้อยคนแล้วกระทรวงฯ ค่อยมาวัดความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน

ภาค ข. เป็นการประเมินทักษะในการเขียน ซึ่งแน่นอนผู้สอบจะต้องมีความรู้ด้านเนื้อหาสารัตถะ แต่มากกว่านั้นคือต้อง “เขียนเป็น” เพราะการสื่อสารทางการทูตไม่มีภาคปรนัย

ขั้นสุดท้ายคือการดูว่าผู้สอบแต่ละราย นอกจากจะมีความรู้รอบตัวและเขียนหนังสือเป็นแล้ว ยังมีไหวพริบปฏิภาณและบุคลิกภาพที่ presentable สามารถเป็นตัวแทนประเทศได้หรือไม่

การสอบไม่ควรเป็นการวัดดวง แต่ควรเริ่มจากการรู้เขา-รู้เรา

รู้ว่าเขาต้องการอะไร และรู้จุดอ่อนจุดแข็งของเราเพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้สอดคล้องตามนั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *