ออกแถลงการณ์ดีหรือเปล่า

(จาก Facebook post วันที่ 3 ก.พ. 2564)

เมื่อคุณเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หน้าที่หนึ่งที่คุณอาจได้รับมอบหมายคือให้ยกร่างแถลงการณ์แสดงท่าทีไทยต่อวิกฤตการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค

แต่กว่าจะถึงจุดนั้นจะต้องมีการตัดสินใจในระดับนโยบายว่าจะออกแถลงการณ์หรือไม่

ถ้าวิกฤตการณ์นั้นมีโอกาสกระทบภูมิภาค เช่นสถานการณ์ในเมียนมาร์ อย่างน้อยแถลงการณ์ก็ควรออกมาจากอาเซียน

โดยที่อาเซียน-10 หาฉันทามติได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในภูมิภาค หน้าที่นี้จึงมักตกกับประธาน

ในปีนี้โชคดีที่ประธานเป็นบรูไน เพราะอยู่มานาน มีประสบการณ์ในอาเซียนสูง และเล่นบทบาทที่สร้างสรรค์เสมอมา จึงออกแถลงการณ์ประธาน (ASEAN Chairman’s Statement) ว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมาร์อย่างรวดเร็วทันใจ

https://asean.org/asean-chairmans-statement-developments-republic-union-myanmar/

ทีนี้บางคนอาจสงสัยว่าออกได้อย่างไร เพราะอาเซียนถือหลักการฉันทามติไม่ใช่หรือ

คำตอบก็คือ Chairman’s Statement เป็นสิทธิ์ของประธานที่จะออกได้โดยไม่จำเป็นต้องมีฉันทามติเพราะไม่ได้ออกในนามสมาชิกภาพทั้งหมด (ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นต้องเจรจาต่อรองกันทุกคำ)

การที่ประธานอาเซียนออกแถลงการณ์มิได้หมายความว่าประเทศสมาชิกจะออกของตัวเองไม่ได้

ถึงอย่างไรการออกแถลงการณ์ของแต่ละประเทศก็เป็นสิทธิ์ของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว เพราะอาเซียนไม่เหมือนอียูที่มีนโยบายต่างประเทศร่วมกัน

หมายความว่ากระทรวงฯ ก็ต้องตัดสินใจอยู่ดีว่าควรออกแถลงการณ์หรือไม่

ยังต้องชั่งใจอยู่ดีระหว่างข้อดีกับข้อเสียว่าออกแถลงการณ์แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในเวทีระหว่างประเทศไหม จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของไทยไหม ทำให้ประเทศมีเกียรติภูมิในเวทีระหว่างประเทศสูงขึ้นไหม

ในกรณีเมียนมาร์ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยแสดงท่าทีชัดเจนแล้วโดยนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านความมั่นคง ว่าเป็นเรื่องภายในของเมียนมาร์

การไม่แสดงความเห็นย่อมเป็นการแสดงท่าทีในตัวเอง

สำหรับเจ้าหน้าที่การทูตที่เกี่ยวข้อง แม้ส่วนตัวอาจเชื่อว่าสถานการณ์ในเมียนมาร์อาจกระทบไทยโดยตรงได้และควรมีแถลงการณ์ แต่การตัดสินใจทางการเมืองย่อมเป็น the last word ไม่ต้องถกเถียงต่อ

ไม่ออกก็ดีไปอย่าง ทำให้ไม่ต้องอยู่ที่ทำงานจนดึกดื่นสรรหาถ้อยคำที่เหมาะสม เสนอให้ผู้ใหญ่แก้แล้วแก้อีก บางทีก็แก้กลับไปกลับมา ฯลฯ

น่าเสียดายแต่ที่เงื่อนไขทางการเมืองของเราทำให้ไทยไม่สามารถแสดงความเห็นใจห่วงใยสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน พลาดโอกาสที่จะอ้างถึงหลักการสากลอันสูงส่งต่าง ๆ ที่เรายึดถือตามลายลักษณ์อักษร

แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ดีและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็อาจถือว่าเป็นโอกาสที่รัฐบาลทั้งสองจะได้กระชับความร่วมมือแลกเปลี่ยน best practices กันว่าการทำรัฐประหารอย่างยั่งยืนควรทำอย่างไร

ความจริงกับภาพลักษณ์

โจทย์หนึ่งที่นักการทูตไทยจะต้องเจอไม่ช้าก็เร็วคือเรื่องของภาพลักษณ์

จุดอ่อนเชิงภาพลักษณ์ของไทยที่ท้าทาย กต. มาตั้งแต่หลังสงครามเย็นคือด้านการเมือง โดยเฉพาะบทบาทของรัฐในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ความจริงถ้าเราไม่ได้อยากเป็นพลเมืองดีของประชาคมโลกเพื่อให้ได้รับการนับหน้าถือตาก็คงไม่ต้องแยแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ

แต่นี่เราเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้การยอมรับ Universal Declaration of Human Rights และได้เข้าเป็นภาคี International Covenant on Civil and Political Rights ในยุคที่ประชาธิปไตยและความหวังยังเบ่งบาน

แม้ว่า UDHR จะเป็นการประกาศหลักการสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ ICCPR เป็นสนธิสัญญา จึงมีผลผูกพัน

ในโลกอุดมคติ รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดในประเทศที่แสดงอุดมการณ์สนับสนุนสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนเช่นนั้นจะต้องเคารพเอกสารสำคัญสองฉบับนี้และจะไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อข้อบทต่าง ๆ ในนั้น

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงอุดมการณ์มักจะเป็นฉากบังหน้า อำนาจทางการเมืองเป็นตัวตัดสินสำคัญที่สุด การปกป้องอำนาจมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะผู้มีอำนาจเป็นผู้กุมกลไกภาครัฐซึ่งผูกขาดความรุนแรง

จะบอกว่าการละเมิดเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ถูกทีเดียว เพราะประเทศประชาธิปไตยก็มีการละเมิดเหมือนกัน

ต่างกันตรงที่เมื่อเกิดการละเมิด ภาคส่วนอื่นของโครงสร้างรัฐและสังคมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจะออกมาต่อต้านเรียกร้องให้มีการสอบสวน เยียวยา และเอาผิดกับผู้ละเมิด

ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลไกตรวจสอบมักถูกรัฐ co-opt หรือทำให้อ่อนแอด้วยวิธีต่าง ๆ การจำกัดสิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ทำได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะโดนลงโทษ

เมื่อใดที่ภาคสังคมแข็งกล้าพอที่จะออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐ การละเมิดสิทธิก็เป็นอาวุธหนึ่งที่รัฐมีในมือเสมอ

สำหรับประเทศที่เคยมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยระดับภูมิภาค อาวุธนั้นจำต้องใช้อย่างแยบยลแนบเนียน

ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า plausible deniability = ความสามารถที่จะปฏิเสธอย่างพอรับฟังได้ว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ละเมิด ทุกอย่างเป็นไปตามหลักสากล ไม่ขัดต่อพันธกรณี

บางทีกต.จะ “โชคดี” ที่ไม่ต้องทำหน้าที่ตรงนี้เพราะฝ่ายการเมืองออกมารับเอง

เช่นตอนที่นายกทักษิณโดนสหประชาชาติจวกเรื่องนโยบายโหดปราบยาเสพติดซึ่งทำให้คนบริสุทธิ์ตายเป็นเบือ ท่านก็ออกมาโต้ว่า "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ"

แต่บางทีฝ่ายการเมืองก็ต้องการเอาแต่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง คือได้ทั้งทำตามอำเภอใจและไม่ต้องหาเหตุผลมา “อธิบาย” ต่อประชาคมโลก

เมื่อนั้นกต.ก็จะได้รับ “มอบหมาย” ให้ชี้แจงในฐานะหน่วยราชการที่มีความน่าเชื่อถือในเวทีโลกมากที่สุด

ในที่สุด ข้าราชการ กต.ซึ่งหลายคนเรียนมาสูง ๆ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ก็กลายเป็นว่าต้องมาทำหน้าที่ defend the indefensible โดยใช้ logical fallacy เพื่อตามล้างตามเช็ดสิ่งที่รัฐบาลทำไปโดยไม่ปรึกษาหารือก่อน

ใจหนึ่งก็รู้ว่าต่างชาติไม่ได้โง่และสิ่งที่ชี้แจงไปคงไม่สามารถหลอกใครได้สำเร็จ

แต่อีกใจหนึ่งก็มิอาจปฏิเสธฝ่ายการเมือง เพราะหน้าที่ของข้าราชการประจำคือทำตามนโยบาย เป็นที่นั่งลำบากที่ใครไม่เจอด้วยตัวเองจะไม่รู้

และผลที่ตามมาก็ไม่ใช่การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติดังที่หวัง แต่การสูญเสียความน่าเชื่อถือของไทยในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งความเสียหายต่อเกียรติภูมิของข้าราชการดี ๆ ที่ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ด้วย

แทนที่จะเป็น win-win กลับเป็น lose-lose situation สำหรับทุกฝ่าย

โจ ไบเดน ชนะดีสำหรับไทยไหม

(จาก Facebook post วันที่ 17 พ.ย. 2563)

มีนักเรียนในคอร์สถามผมว่าชัยชนะของ Joe Biden (โจ บ๊ายดึ่น) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะดีสำหรับไทยหรือไม่

ตั้งคำถามแบบนี้ส่อแววว่าถ้าสอบผ่านน่าจะเป็นนักการทูตที่ดีได้ เพราะเมื่อใดที่มีเหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศจะต้องถามก่อนว่ามันจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร

การตอบคำถามนี้ควรต้องตีโจทย์ให้แตกในสองส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน

ส่วนแรกคือการนิยามคำว่า “ดี”

คำว่า “ดี” มักจะไม่ใช่คุณสมบัติที่ objective แต่แฝงไว้ด้วยความเห็นหรือการตัดสินว่าอะไรควรไม่ควร

ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมมีความเห็นไปในทางเดียวกันก็อาจทำให้เราลืมไปได้ว่าความ “ดี” ไม่ได้มีความหมายตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและมุมมอง

ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในภาษาไทยที่แยกแยะระหว่าง “คนดี” กับ “คนดีย์”

อีกส่วนคือการ identify ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่ผลประโยชน์และจุดยืนทางอุดมการณ์ ทั้งด้านเขาและด้านเรา

สำหรับสหรัฐนโยบายต่างประเทศมักจะเป็นการแสดงออกของผลประโยชน์กลุ่มต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลภายในประเทศ โดยผ่านรัฐสภาและฝ่ายบริหาร ซึ่งต่างสามารถออกกฎหมายหรือดำเนินการอันเป็นโทษต่อประเทศต่าง ๆ ที่ตนต้องการให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้

ในอดีตไทยก็เคยโดนสหรัฐบีบมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ “แรงงานทาส” การค้าขายกับประเทศที่สหรัฐคว่ำบาตร ฯลฯ ซึ่งในทุกกรณีจะอ้างหลักการสูงส่งแต่มักมีกลุ่มผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง

กลุ่มผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลึกลับอะไรหรอกครับ เพียงแต่มีฐานสมาชิกและ/หรือเงินมากพอที่นักการเมืองจะต้องเกรงใจ พวกนี้จะเที่ยวขึ้นเที่ยวลง Capitol Hill เพื่อไปล็อบบี้นักการเมืองให้ออกกฎหมายที่สมาชิกของตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์หรืออุดมการณ์

ในเชิงอุดมการณ์ โดยธรรมเนียมพรรคเดโมแคร็ตมักจะให้ความสำคัญกับหลักการเสรีนิยมทางการเมืองมากกว่า ในขณะที่รีพับลิกันจะสนใจเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ดังนั้นเป็นไปได้ว่าสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีเดโมแคร็ตจะกดดันไทยเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยมากกว่าเดิม ต่างจากยุคทรัมป์ผู้ขึ้นชื่อว่าเสน่หาผู้นำแนวอำนาจนิยมเป็นพิเศษ

ทีนี้จะดีสำหรับไทยหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นอย่างไร ต้องการเห็นประเทศเดินหน้า (หรือถอยหลัง) อย่างไรต่อไป

ถ้าเราไม่ชอบประชาธิปไตยเราก็จะมองว่ามันไม่ดี มองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในซึ่งขัดต่อหลักสากล

แต่ถ้าเราชอบประชาธิปไตยเราก็จะมองว่ามันดี เป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยซึ่งสอดคล้องกับหลักสากล

แต่ตราบใดที่สังคมส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีฉันทามติว่าเราอยากเห็นประเทศพัฒนาไปในทางไหน หรือ “ความดี” อยู่ตรงไหน เราก็คงยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากแทน “ไทย” ได้ทั้งประเทศว่านโยบายของ Biden จะ “ดี” สำหรับไทยหรือไม่

ทักษะอะไรสำคัญที่สุดในการสอบนักการทูต

ถ้าถามว่าทักษะอะไรสำคัญที่สุดในการสอบนักการทูต ผมคิดว่าเป็นภาษาอังกฤษ

สมัยผมเด็ก ๆ ภาษาแห่งการทูตคือภาษาฝรั่งเศส แต่สถานะอันสูงส่งนั้นได้ถูกภาษาอังกฤษช่วงชิงมาครอบครองควบคู่ไปกับการแปลงร่างกลายเป็นภาษาโลก หรือ lingua franca = ภาษาที่ใช้ระหว่างคนที่ไม่มีภาษาแม่ร่วมกัน

ถึงแม้ว่าในโลกจะมีคนพูดจีนกลางและสเปนเป็นภาษาแม่มากกว่า แต่ภาษาอังกฤษมีคนพูดได้มากที่สุด

โดยที่มีคนพูดภาษาอังกฤษได้จำนวนมากแต่มีทักษะสูงต่ำแตกต่างกันไป เกณฑ์ CEFR (Common European Framework of References for Languages) จึงมักนิยมใช้วัดระดับภาษาอังกฤษ ซึ่งแบ่งเป็น A1, A2, B1, B2, C1, C2 โดย A1 เป็นระดับต่ำสุด และ C2 สูงสุด

สำหรับการสอบนักการทูตปฏิบัติการ ถ้าภาษาอังกฤษคุณอยู่ที่ระดับ beginner (A1 หรือ A2) ก็อย่าไปหวังอะไรมาก ถ้าเป็น intermediate (B1 หรือ B2) ยังพอมีสิทธิ์ลุ้นผ่านภาค ก. แต่ถ้าจะให้ผ่านภาค ก. แน่ ๆ ก็ควรอยู่ที่ระดับ advanced หรือ C1 ขึ้นไป

ในความเป็นจริง คนที่สอบผ่านส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ระดับ C1 ขึ้นไป เพราะระดับนั้นต้องแตกฉานพอสมควร เช่น รู้โครงสร้างทางไวยากรณ์ที่ซับซ้อน มองออกว่ามีความหมายอะไรซ่อนอยู่ใต้คำพูด และใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วในแทบทุกสถานการณ์

ถ้าเป็นระดับ C2 ก็เทียบเท่าหรือเกือบเทียบเท่าคนที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่นจะต้องฟังและอ่านออกทั้งความหมายที่อยู่ในน้ำเสียง จังหวะจะโคน หรือการเลือกใช้คำ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องใช้ในการเจรจาชั้นสูงหรือการร่างสุนทรพจน์

ถ้าคุณภาษาอังกฤษยังไม่ถึงระดับ C ก็อย่าเพิ่งถอดใจนะครับ เพราะงานของกระทรวงฯ ยังมีมากกว่านั้น ไหนจะทั้งงานบริการประชาชน งานบริหารความสัมพันธ์ทั่วไป งานพิธีการ งานบริหารทรัพยากรของกระทรวง และอีกมากมายซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษระดับ C1 หรือ C2

แต่ที่กระทรวงฯ ยังจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์สำคัญในการคัดกรองก็เพราะว่าการเจรจาระหว่างประเทศและงานอื่น ๆ ที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ ยังคงเป็น core competency ของกระทรวงฯ อยู่ เวลามีการเจรจาหรือยกร่างสุนทรพจน์ระดับสูงนอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วมักจะมีกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วยเพื่อไม่ให้เสียเปรียบหรือพูดอะไรออกไปที่ไม่เหมาะสม

ในการสอบเข้าแต่ละรุ่น คนที่ภาษาอังกฤษอยู่ระดับ C มีไม่มาก และที่แตกฉานทั้งไทยและอังกฤษยิ่งหายากไปใหญ่

แต่ถ้าคุณภาษาไทยวิจิตร ภาษาอังกฤษใช้ได้ มีไหวพริบดี แถมมีความรู้ ก็มีโอกาสลุ้นครับ โดยมากจะเฉือนกันก็ตรงภาษาอังกฤษนี่แหละ

ถ้าอยากทราบว่าตัวเองมีพื้นฐานภาษาอังกฤษแน่นหนาขนาดไหน ก็ลองไปทดสอบดูได้ครับที่

https://www.cambridgeenglish.org/test-your-english/

https://learnenglish.britishcouncil.org/online-english-level-test

https://www.efset.org/english-score/

คอร์ส BADiplomat รุ่นแรก

และแล้วคอร์สเตรียมสอบนักการทูต BADiplomat รุ่นที่ 1 ก็จะจบลงในวันเสาร์ที่ 7 พ.ย. นี้

ต้องยอมรับว่าการทำคอร์สนี้ไม่ใช่งานสบายอย่างที่คิดแต่แรก ไหนจะเตรียมการสอน อ่านและแนะนำหนังสือ/บทความนอกเวลา เตรียมทำ PowerPoint ตัดต่อวิดีโอ ตรวจการบ้าน ฯลฯ

แล้วไหนยังต้องเล่นกับลูกน้อยจอมซนที่หาเรื่องมาคุยโขมงโฉงเฉงกับพ่อทุกในโอกาส จนเอาไปเอามาผมกลายเป็นคนนอนน้อยไปโดยปริยาย

แต่ถึงแม้จะเหนื่อยก็รู้สึกดีว่าเราได้พยายาม “ให้” กับนักเรียนมากที่สุดแล้ว

นอกจากสอนในห้องเรียนผมยังเปิดช่องทางให้นักเรียนปรึกษาได้ต่อไปแม้ว่าจะเรียนจบคอร์สไปแล้ว

เพราะการเตรียมความพร้อมจริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของการเก็งข้อสอบ แต่การพัฒนาทักษะและความรู้จนเต็มเปี่ยม ข้อสอบจะออกอย่างไรก็ตอบได้หมด ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามอีกมากนอกเหนือจาก 24 ชั่วโมงในห้องเรียน

ก่อนที่จะเปิดคอร์สรุ่นที่ 2 ในวันที่ 21 พ.ย. นี้ ผมอยากขอถือโอกาสขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยในการทำให้การสอนรุ่นที่ 1 ลุล่วงไปด้วยดี

ขอขอบพระคุณท่านทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้มาให้ความรู้และแง่คิดด้านการเมืองระหว่างประเทศ ท่านทูตวรเดช วีระเวคิน อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กับท่านทูตไกรรวี ศิริกุล อดีตรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่มาร่วมบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและความสำคัญของกฎหมายในงานของกระทรวงฯ อัครราชทูตที่ปรึกษาสมพงษ์ กางทอง ที่มาเล่าเรื่องชีวิตจริงของข้าราชการกต.ที่เป็นงานปิดทองหลังพระเสียมาก และคุณกมลรัตน์ บุญ-หลง ที่รับมาบรรยายเรื่องบุคลิกภาพและการแต่งกาย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสอบภาค ค.

ขอขอบคุณผู้บริหารและทีมงานของสถาบัน Premier Prep ที่ให้คำปรึกษาและเอื้อเฟื้อสถานที่

และสำหรับสมาชิกรุ่นที่ 1 ผมขอขอบคุณทุกคนที่หวังรับใช้ประเทศชาติโดยการสมัครเป็นนักการทูต

แม้ว่าการสอบเข้ากระทรวงฯ จะไม่ง่าย แต่ผมขอให้ระลึกถึงภาษิต If at first you don’t succeed, try, try and try again.

โดยต้องตระหนักว่าระหว่างคำว่า try แต่ละครั้งจะต้องพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับครั้งต่อไป มิฉะนั้นแล้วจะ try กี่ครั้ง ๆ ก็มีสิทธิ์ได้ผลเหมือนเดิม

ถ้าคอร์สนี้ได้ช่วยให้คุณประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง สามารถอุดช่องโหว่ และก้าวเข้าไปใกล้ “ความพร้อม” มากขึ้น ผมก็พอใจแล้วครับ

ออนไลน์หรือในห้องเรียนดี

หลังจากผมปิดรับสมัครคอร์สเตรียมสอบนักการทูตได้ไม่นาน ก็เริ่มมีหลายท่านทยอยสอบถามมาว่าสนใจเรียนด้วย ขอทราบว่ารุ่นต่อไปจะเปิดเมื่อไหร่

บางท่านอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ บอกว่าอยากให้เปิดคอร์สแบบออนไลน์ได้ไหม

โดยที่ตอนนี้คอร์ส BADiplomat รุ่นที่ 1 ก็ผ่านมากว่าครึ่งทางแล้ว ผมก็ค่อยเริ่มมีเวลาที่จะคิดเปิดรุ่นที่ 2

แต่ที่คิดยังไม่ตกคือจะเปิดเป็นคอร์สปกติเหมือนเดิมหรือออนไลน์ดี

แน่นอนครับ มีบางอย่างที่ทำได้ไม่ต่างกันมากถ้าจะเป็นออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกกิจกรรมแนวบรรยาย

อย่างรุ่นที่ 1 ในช่วงหนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมาก็มีการบรรยายเกี่ยวกับชีวิตจริงของนักการทูต หน้าที่ของนักการทูต คุณสมบัติของนักการทูตที่ดี ทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในอาชีพนักการทูต ฯลฯ

ในช่วงต่อไปก็จะมีการบรรยายความรู้สำหรับนักการทูตโดยมีอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงฯ ให้เกียรติมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้วย

สิ่งที่คอร์สออนไลน์จะทำได้ยากหน่อยคือกิจกรรมที่ผู้สอนให้ feedback แต่ละคน เช่น การฝึกเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ ย่อความ แปล หรือกล่าวสุนทรพจน์โดยมีเวลาเตรียมตัวเพียงไม่กี่นาที

ข้อดีของคอร์สออนไลน์ก็มี เช่น ไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ห้องเรียน จะเรียนกี่คนก็ได้ ค่าเรียนถูกกว่า และไม่ต้องเดินทาง

แต่ในยุคโควิดนี่ดูเหมือนว่าออนไลน์น่าจะปลอดภัยที่สุด

สอบเข้ากต.ยากจริงไหม?

มักจะมีคนถามผมว่ากระทรวงการต่างประเทศสอบเข้ายากจริงไหม

ผมก็มักตอบว่าไม่ยากหรอก ถ้าผู้สอบมีความพร้อม

แต่ผลสอบรอบที่แล้วแสดงให้เห็นว่าคนที่พร้อมจริง ๆ มีสัดส่วนน้อยมาก ผมจึงคิดเปิดคอร์สติวเข้มสำหรับสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงฯ เผชิญปัญหามานานแล้วในการดึงดูดคนเก่ง ๆ

ถ้าคนที่ “เก่งมาก” ด้วยตัวเองเลือกที่จะมาสอบน้อยลง อย่างน้อยคนอย่างผมก็อาจช่วยเพิ่มปริมาณของคนที่ “เก่งพอ” (ที่จะเข้าไปแล้วฝึกฝนต่อ) ได้

โดยกลั่นบทเรียนจากประสบการณ์อดีตในฐานะกรรมการออกและตรวจข้อสอบ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงฯ

ออกมาเป็น tips and techniques สำหรับการสอบเข้า ซึ่งยังอาจนำไปใช้ในชีวิตการทำงานได้อีกด้วย

คอร์สของผมเหมาะที่สุดสำหรับคนที่มีความสนใจและพื้นฐานอยู่บ้างพอสมควร ถ้าเก่งมากอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องติว และถ้าแทบไม่รู้เรื่องเลยก็ควรเก็บตังค์ไว้ทำอย่างอื่น

ท่านที่สนใจเรียนโปรดคอยติดตามเพจ BADiplomat ทาง Facebook ได้ครับ หรือจะดูภายใต้หัวข้อ Courses ในเว็บไซท์นี้ก็ได้ จะมีประกาศว่ารุ่นต่อไปจะเปิดเมื่อไหร่

รู้เขา-รู้เรา

หลายคนที่พยายามสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศมักจะนึกถึงความต้องการของตัวเอง แต่ลืมนึกถึงความต้องการของกระทรวงฯ

บางคนคิดว่า เอ ฉันก็เรียนเก่งนี่ แต่ทำไมไม่ผ่าน สงสัยเป็นเพราะไม่ได้เป็นลูกท่านหลานเธอหรือเปล่า

ความจริงก็คือว่ากระทรวงฯ ต้องการและพยายามหาคนเก่งอยู่เสมอ

ความเก่งที่ว่านี้คือความรู้ความสามารถบางอย่าง หรือ a very particular set of skills อย่างที่ Liam Neeson พูดในหนังเรื่อง Taken

โดยที่ความรู้ความสามารถชุดนี้ไม่ได้หาง่าย ๆ กระทรวงฯ จึงเปิดให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการระบุชื่อผู้สอบในกระดาษสอบ

กว่าจะรู้ว่าใครเป็นใครก็ปาเข้าไปรอบสุดท้าย ซึ่งก็ยังมีกรรมการรับเชิญจากนอกกระทรวงเป็นสักขีพยานความโปร่งใสอยู่ดี

ข้อสอบนักการทูตปฏิบัติการก็ออกแบบเพื่อคัดกรองหาคุณสมบัติและทักษะที่กระทรวงฯ ต้องการ

ขั้นแรก หรือ ภาค ก. มีเป้าหมายที่ง่ายมาก นั่นคือการลดจำนวนผู้สอบจากหลายพันคนให้เหลือหลักร้อยต้น ๆ

เป็นการใช้ข้อสอบปรนัยวัดความเหมาะสมกว้าง ๆ เช่นความรู้รอบตัวและความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ

เมื่อเหลือไม่กี่ร้อยคนแล้วกระทรวงฯ ค่อยมาวัดความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน

ภาค ข. เป็นการประเมินทักษะในการเขียน ซึ่งแน่นอนผู้สอบจะต้องมีความรู้ด้านเนื้อหาสารัตถะ แต่มากกว่านั้นคือต้อง “เขียนเป็น” เพราะการสื่อสารทางการทูตไม่มีภาคปรนัย

ขั้นสุดท้ายคือการดูว่าผู้สอบแต่ละราย นอกจากจะมีความรู้รอบตัวและเขียนหนังสือเป็นแล้ว ยังมีไหวพริบปฏิภาณและบุคลิกภาพที่ presentable สามารถเป็นตัวแทนประเทศได้หรือไม่

การสอบไม่ควรเป็นการวัดดวง แต่ควรเริ่มจากการรู้เขา-รู้เรา

รู้ว่าเขาต้องการอะไร และรู้จุดอ่อนจุดแข็งของเราเพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้สอดคล้องตามนั้น

นักการทูตที่ดีควรเป็นอย่างไร?

นักการทูตที่ดีควรเป็นอย่างไร?

คำถามนี้มีได้หลายคำตอบ เช่นเดียวกับที่นักการทูตก็มีหลากหลายลักษณะ

แต่โดยทั่วไปเวลาเรานึกถึงคุณสมบัติของนักการทูตเรามักจะนึกถึงความสามารถที่จะสื่อสารแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

มีคำคมมากมายเกี่ยวกับอาชีพนักการทูต เช่น A diplomat is a person who can tell you to go to hell in such a way that you actually look forward to the trip. = นักการทูตคือคนที่สามารถบอกคุณให้ไปลงนรกด้วยวิธีพูดที่ทำให้คุณรู้สึกว่า เออแฮะ น่าไป

หรือ A diplomat is a man who always remembers a woman’s birthday but never her age. = นักการทูตเป็นผู้ชายที่จำวันเกิดของผู้หญิงได้เสมอแต่ไม่เคยจำอายุของเธอได้

หรือ A diplomat is a man who thinks twice before he says nothing. = นักการทูตคือคนที่คิดหน้าคิดหลังก่อนที่จะไม่พูดอะไรเลย

กระทรวงการต่างประเทศไทยก็มีเพลง “บัวแก้ว” ซึ่งกล่าวถึงความอดทน อดกลั้น ไม่แสดงความขุ่นเคืองออกมาให้คนอื่นเห็น

โดยรวมอาจพอสรุปได้ว่านักการทูตที่ดีควรมีอารมณ์นิ่ง คิดก่อนพูด ถ้าต้องพูดก็ไม่พูดจาอะไรที่รุนแรงหรือทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น ถ้าจะด่าใครก็ใช้วาทศิลป์ชนิดที่ผู้โดนด่าต้องกลับเอาไปไตร่ตรองต่อที่บ้านแล้วค่อยคิดได้ว่า เฮ้ย มันด่าเรานี่หว่าา